วัยทองเป็นระยะซึ่งสตรีส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านครอบครัว หน้าที่การงาน และฐานะความเป็นอยู่ โดยเฉลี่ยสตรีไทยเริ่มเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดระดู โดยธรรมชาติเมื่ออายุประมาณ 50 ปี ในกรณีที่หมดระดูเมื่ออายุน้อยกว่า 40 ปี เรียกว่าหมดระดูก่อนเวลาอันควร ซึ่งจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ มากขึ้น เช่นเดียวกับสตรีที่หมดระดูจากการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง อายุขัยเฉลี่ยของสตรีไทยประมาณ 71 ปี ดังนั้นช่วงเวลาที่สตรีต้องอยู่ในสภาวะวัยหมดระดูนั้น มีประมาณ 1 ใน 3 ของช่วงชีวิตทั้งหมดของสตรี ซึ่งเป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปี
มีอาการอย่างไร
เมื่อสตรีย่างเข้าสู่วัยทอง อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกายและจิตใจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดฮอร์โมนเพศคือ เอสโตรเจน เช่น
รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ อาจห่างออกไปหรือสั้นเข้า อาจมีเลือดประจำเดือนน้อยลง หรือมากขึ้น
เกิดอาการซึมเศร้า, หงุดหงิด, กังวลใจ, ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง, ความจำเสื่อม, ความต้องการทางเพศ หรือการตอบสนองทางเพศลดลง
ช่องคลอดแห้ง, คันบริเวณปากช่องคลอด, มีการอักเสบของช่องคลอด, เจ็บเวลาร่วมเพศ, อาจมีการหย่อนยานของมดลูก และช่องคลอด, มีการหย่อนของกระเพาะปัสสาวะ, ปัสสาวะบ่อย, กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ขณะไอหรือจาม หรือขณะยกของหนัก
ผิวหนังแห้ง, เหี่ยวย่น, คัน, ช้ำและเป็นแผลได้ง่าย, ผมแห้ง, ผมร่วง
เต้านมมีขนาดเล็กลง, หย่อน, นุ่มกว่าเดิม
เกิดโรคของระบบหัวใจและหลอดเลือด พบว่าสตรีก่อนวัยหมดประจำเดือนอัตราส่วนของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันในชายจะสูงกว่าหญิงในอัตรา 9:3 แต่เมื่อสตรีเข้าสู่วัยหมดระดู จะเริ่มมีอัตราการเกิดโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้น จนมีอัตราไกล้เคียงกับชายเมื่ออายุ 70 ปี ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในสตรีวัยทอง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
การขาดเอสโตรเจน โดยเฉพาะในระยะแรกของวัยหมดระดู อาจทำให้มีการสูยเสียเนื้อกระดูกได้ถึงร้อยละ 3-5 ต่อปี จนทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน และอาจมีการหักของกระดูกในส่วนต่างๆ ได้แก่ กระดูกข้อมมือ, กระดูกสันหลัง, กระดูกสะโพก เป็นต้น
การดูแลตัวเอง
สตรีควรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงในวัยนี้ ควรหาความรู้เพิ่มเติมพร้อมดูแลตนเองให้มีสุขภาพกายและใจที่ดี โดยควรรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับวัย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันสัตว์ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และบุหรี่ ควรได้รับแคลเซียมประมาณวันละ 1,000-1,500 มิลลิกรัม อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น กุ้งแห้ง, ปลาเล็กปลาน้อย, ผักใบเขียว รับประทานอาหารที่มีเอสโตรเจนธรรมชาติ เช่น ถั่วเหลือง, ข้าวโพด, ข้าวโอ๊ด, ข้าวสาลี, ข้าวบาร์เล่ย์, มันฝรั่ง, มันเทศ, มะละกอ เป็นต้น
การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ควรกระทำในสตรีวัยหมดระดู เพราะมีผลต่อการสร้างเนื้อกระดูก มีผลดีต่อการลดไขมัน และการแข็งตัวของเลือด นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่า การออกกำลังกายสามารถลดอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ และภาวะซึมเศร้าในวัยหมดระดูได้
ในรายที่มีอาการต่างๆ รุนแรง ได้รับความทุกข์ทรมานรบกวนความสุขในชีวิต หรือมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และ หลอดเลือด, โรคกระดูกพรุน ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาการให้ฮอร์โมนทดแทน
กลับ