สัญลักษณ์โบราณ กระต่ายป่า 3 ตัว (The Three Hares) มีหูที่เชื่อมกันอยู่เป็นรูปสามเหลี่ยมและกำลังวิ่งไล่กันเป็นวงกลม เป็นความเคลื่อนไหวแบบไม่มีที่สิ้นสุด พบในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายประเทศ
" กระต่าย " ไม่ได้เป็นตำนานความเชื่อแต่ในแถบบ้านเรา แต่ก็ยังเป็นสัตว์ที่มีเรื่องเล่าและตำนานอยู่ในหลายชาติ ทั้งในแง่ลบและสร้างสรรค์แตกต่างกันไปตามพื้นที่ที่มีกระต่ายเกี่ยวข้องกับภูมิหลังที่คู่ขนานไปกับการพัฒนาของเผ่าพันธุ์ ไปดูความเชื่อของแต่ละชนชาติที่รวบรวมไว้เกี่ยวกับกระต่ายกัน
* แอซเท็ค มีวิหารเทพกระต่าย 400 องค์ " เซ็นต์ซอน โตต็อชติน " (Centzon Totochtin) และยังมีเทพกระต่ายอีก 2 องค์ชื่อ " โอเมต็อชตลิ " (Ometotchtli) เป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์, การเฉลิมฉลอง และความมึนเมา
* แอฟริกากลาง มีกระต่าย " กาลูลู " (Kalulu) มีบุคคลิกฉลาดแกมโกง มีความสามารถในการต่อรอง
* จีน กระต่ายมีความเกี่ยวพันกับดวงจันทร์ และยังเชื่อมโยงกับปีใหม่จีน กระต่ายยังเป็นหนึ่งในสัตว์ 12 นักษัตริย์ในปฎิทินจีน
* ญี่ปุ่น เชื่อว่ากระต่ายอยู่บนดวงจันทร์และกำลังทำแป้งโมจิอยู่บนนั้น ความเชื่อนี้มาจากการสังเกตเห็นเงาบนดวงจันทร์ผนวกกับจินตนาการที่มีลักษณะคล้ายกระต่ายกำลังถือสากยักษ์ตำครกกระเดื่อง
* เกาหลี มีตำนานคล้ายกับญี่ปุ่น ที่เห็นกระต่ายกำลังตำแป้งอยู่บนดวงจันทร์ แต่ว่ากระต่ายเหล่านั้นกำลังทำ " ต็อก " เค้กข้าวของชาวเกาหลี
* ตะวันออกไกล ชาวยิวบอกว่ากระต่ายหมายถึงความขี้ขลาด รวมถึงชาวอิสราเอลที่พูดภาษาฮิบรูก็มีคำว่า " กระต่าย " อันหมายถึง " ขี้ขลาด " เช่นเดียวกับคำว่า " ชิกเก้น " ที่แปลตรง ๆ ว่าไก่ในภาษาอังกฤษ
* เวียดนาม มองกระต่ายเป็นสัญญลักษณ์แห่งความไร้เดียงสาและอ่อนเยาว์ มีภาพเหล่าทวยเทพขณะกำลังไล่ล่ากระต่าย ก็เพื่อแสดงให้เห็นพละกำลังของเทพทั้งปวง อีกทั้งเวียดนามก็ยังใช้กระต่ายแทนแมวเป็นสัญญลักษณ์ในปีนักษัตริย์ ทั้ง ๆ ที่เป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีกระต่ายอาศัยอยู่
* เกาะพอร์ทแลนด์ ในดอร์เซ็ต สหราชอาณาจักร ก่อนหน้านี้ชาวเมืองเห็นว่า กระต่ายเป็นสัตว์โชคร้าย และการพูดคำว่า “ กระต่าย ” จะทำให้ผู้ใหญ่ในบ้านเป็นอันตราย ดังนั้นถ้าใครจะพูดถึงกระต่ายก็จะใช้คำเลี่ยง เช่น เจ้าหูยาว แต่ช่วง 50 ปีหลังมานี้ความเชื่อดังกล่าวก็หายไป ผู้คนบนเกาะสามารถพูดคำว่า “ กระต่าย ” ได้อย่างเต็มปาก และ “ เจ้าหูยาว ” ก็กลายเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมา
* ตีนกระต่าย เป็นเครื่องรางที่เชื่อว่าจะนำโชคให้แก่ผู้พกพา ซึ่งความเชื่อนี้มีอยู่ทั่วโลก และพบหลักฐานเก่าแก่ที่สุดในยุโรปช่วง 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช
กระต่ายกับเต่า
กระต่ายปรากฎอยู่ในนิทานมากมาย ที่รู้จักกันดีคือ " นิทานอีสป " ซึ่งเรื่องเล่าของกระต่ายตัวหนึ่งวิ่งแข่งกับเต่า
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีกระต่ายตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในป่ามันวิ่งได้เร็วมาก จนหลงตัวเองว่าในป่าแห่งนี้ไม่มีใครวิ่งเร็วชนะตนเองได้ วันหนึ่งกระต่ายเดินร้องเพลงมาอย่างสบายใจและพบกับเต่าเข้า เห็นเต่าคลานต้วมเตี้ยมผ่านหน้าไปกระต่ายจึงพูดกับเต่าว่า “ มัวแต่คลานต้วมเตี้ยมอยู่แบบนี้เมื่อไหร่จะถึงบ้านล่ะ แบบนี้ข้าว่าข้าต่อให้เจ้าคลานล่วงหน้าไปก่อนสักครึ่งวันข้าก็วิ่งตามทัน ฮ่า ฮ่า ฮ่า ” กระต่ายหัวเราะเยาะเย้ยเจ้าเต่า
“ ข้าก็คลานของข้าแบบนี้มาตั้งนานแล้ว ” เต่ารู้สึกไม่พอใจที่กระต่ายพูดจาแบบนั้นใส่ตน แล้วพูดต่ออีกว่า “ กระต่ายหลงตัวเองอย่างเจ้าไม่เห็นว่าจะเก่งตรงไหน ดีแต่โม้ไปวันวัน ”
กระต่ายผู้ทะนงในความวิ่งเร็วของตนเอง เห็นเต่าพูดจาอย่างนั้นจึงพูดขึ้นว่า
“ งั้นแน่จริงกล้าวิ่งแข่งกับข้าไหมล่ะ? เจ้าเต่าต้วมเตี้ยม ฮ่า ฮ่า ฮ่า ไม่กล้าล่ะสิ ”
เต่า ตอบทันควันว่า “ ตกลง…เรามาวิ่งแข่งกัน ใครถึงเส้นชัยก่อนคนนั้นชนะ ”
กระต่ายแทบไม่เชื่อหูตัวเอง “ เจ้านะเหรอกล้าท้าแข่งกับข้า ข้าต่อให้เจ้าก่อนก็ได้ ฮ่า ฮ่า ฮ่า”
ทันใดนั้นเจ้านกน้อยบินผ่านมาพอดี เต่าและกระต่ายจึงขอให้นกน้อยเป็นกรรมการตัดสินให้ เมื่อการแข่งขันเริ่มขึ้น กระต่ายวิ่งออกจากจุดเริ่มต้นด้วยความเร็วสุดฝีเท้านำเต่าไปก่อน พอถึงกลางทางหันกลับไปมองข้างหลังไม่เห็นแม้แต่เงาของเต่า เจ้ากระต่ายจึงนั่งพักที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ข้างทางจนเผลอหลับไป ส่วนเจ้าเต่ายังคงคลานต้วมเตี้ยม ๆ อย่างไม่ย่อท้อ โดยมีเพื่อนสัตว์ป่าส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจ เนื่องจากเพื่อนทุกตัวไม่ชอบนิสัยของเจ้ากระต่ายขี้คุย เจ้าเต่ายังคงคลานต่อไปจนแซงหน้ากระต่ายที่มัวแต่นอนหลับอยู่
เจ้ากระต่ายสะดุ้งตื่นขึ้นมาอีกทีเมื่อเจ้าเต่าคลานจะถึงเส้นชัยแล้ว มันรีบวิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วหวังจะไล่ให้ทันแต่ก็สายไปเสียแล้ว พวกสัตว์ป่าต่างห้อมล้อมเข้าไปแสดงความยินดีกับเต่าตัวแรกที่สามารถเอาชนะกระต่ายได้ในการวิ่งแข่งขัน เป็นตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น
กระต่ายตื่นตูม
นอกจากนิทานอีสปแล้ว ทางฝั่งตะวันออกก็มีนิทานชาดกเกี่ยวกับกระต่ายเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือเรื่อง " กระต่ายตื่นตูม " ซึ่งเล่าสมัยพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นราชสีห์
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชสีห์อาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง มีดงตาลกับต้นมะตูมอยู่ติดทะเลด้านทิศตะวันตกของป่านั้น ณ ที่ดงตาลนั้นมีกระต่ายตัวหนึ่งอาศัยอยู่ใต้ต้นตาลใกล้ต้นมะตูมต้นหนึ่ง วันหนึ่งเจ้ากระต่ายออกเที่ยวหากินจนอิ่มแล้วกลับมานอนพักผ่อนอยู่ใต้ใบตาลแห้ง กำลังนอนคิดเพลิน ๆ อยู่ว่า " ถ้าหากแผ่นดินนี้ถล่ม เราจะไปอยู่ที่ไหนหนอ " ทันใดนั้นเองผลมะตูมสุกลูกหนึ่งได้หล่นลงมาถูกใบตาลเสียงดังลั่น เจ้ากระต่ายนึกว่าเป็นเสียงแผ่นดินถล่ม จึงร้องขึ้นสุดเสียงว่า "แผ่นดินถล่มแล้ว ๆ " พร้อมกับกระโดดวิ่งหนีไปสุดชีวิตโดยไม่เหลียวหลังมาดูเลย
กระต่ายตัวอื่น ๆ เห็นมันวิ่งหนีอะไรมาสุดชีวิตจึงร้องถามมันว่า " เจ้าวิ่งหนีอะไรมา " มันทั้งวิ่งทั้งร้องตอบว่า " รีบหนีเร็ว แผ่นดินถล่มแล้ว ๆ " กระต่ายจำนวนนับพันต่างก็รีบวิ่งหนีตายตามมันไปด้วย สัตว์ป่านานาชนิดเมื่อทราบข่าวต่างก็วิ่งหนีตามกระต่ายไป ฝูงสัตว์วิ่งหนีตามกันมาเป็นทิวแถว ราชสีห์เห็นสัตว์น้อยใหญ่วิ่งกันมาฝุ่นฟุ้งกระจายจึงร้องถามไปว่า " พวกเจ้าวิ่งหนีอะไรมา " ได้รับคำตอบว่า " เจ้านาย แผ่นดินที่โน้นถล่มแล้ว พวกเราวิ่งหนีตาย " แล้วก็วิ่งไปต่อ บ่ายหน้าไปทางหน้าผาสูงชันโดยไม่รู้ตัว ราชสีห์ด้วยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลายเกรงว่าจะตกเหวตายเสียหมด จึงวิ่งไปดักข้างหน้าพร้อมกับคำรามเสียงดังลั่นขึ้น ๓ ครั้ง สัตว์ทั้งหลายพอได้ยินเสียราชสีห์ก็พากันตกใจกลัวตื่นจากภวังค์หยุดวิ่ง
ราชสีห์จึงถามว่า " ใครเห็นแผ่นดินถล่มบ้าง " พวกสัตว์บอกว่า " ช้างเห็นขอรับ " ช้างบอกว่า " เสือเห็น " เสือบอกว่า " แรดเห็น " แรดบอกว่า " ควายเห็น " ควายบอกว่า " หมูป่าเห็น " หมูป่าบอกว่า " กวางเห็น " กวางบอกว่า " กระต่ายเห็น " พวกกระต่าย จึงชี้บอกว่า " กระต่ายตัวนี้เห็นแผ่นดินถล่มครับ..นาย " ราชสีห์จึงถามกระต่ายตัวนั้นว่าเป็นจริงหรือเปล่า กระต่ายตอบว่า " ข้าพเจ้าเห็นจริง ๆ นายท่าน " ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนอนพักผ่อนอยู่ใต้ใบตาลก็มีเสียงดังสนั่นหวั่นไหวขึ้น ข้าพเจ้าจึงวิ่งหนีตายมานี่ละ.. นายท่าน
ราชสีห์เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจึงบอกให้สัตว์ทั้งหลายรออยู่ที่ตรงนี้ส่วนตนและเจ้ากระต่ายจะเดินกลับไปดูสถานที่ต้นเหตุ ตรวจดูเห็นผมมะตูมสุกลูกหนึ่งวางอยู่ก็เข้าใจทันที จึงกลับมาบอกสัตว์ทั้งหลายว่า " ท่านทั้งหลายเลิกกลัวได้แล้ว เสียงแผ่นดินถล่มเป็นเสียงผลมะตูมสุกหล่นกระทบใบตาลแห้ง เลิกกลัวได้แล้ว " สัตว์ทั้งหลายอาศัยราชสีห์จึงเอาชีวิตรอดมาได้
พระพุทธองค์ตรัสพระคาถาว่า
" พวกคนโง่เขลายังไม่ทันรู้เรื่องราวแจ่มแจ้ง ฟังคนอื่นโจษขานก็พากันตื่นตระหนก พวกเขาเชื่อคนง่าย ส่วนคนเหล่าใดเป็นนักปราชญ์เพียบพร้อมด้วยศีลและปัญญา ยินดีในความสงบและเว้นไกลจากการทำชั่ว คนเหล่านั้นหาเชื่อคนอื่นง่ายไม่ "
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ก่อนแต่จะเชื่ออะไรใคร่ควรพิจารณาตรวจสอบความเป็นจริงเสียก่อน เพื่อความถูกต้องจะไม่ได้เป็นอย่างกระต่ายตื่นตูม
กระต่ายบนดวงจันทร์
ในทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่า " กระต่ายบนดวงจันทร์ " เป็นหลุมอุกาบาตขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้ม จึงดึงดูดอุกาบาตเข้าตัวเต็มไปหมด จนเกิดหลุมทั้งเล็กใหญ่และมีหลุมส่วนหนึ่งมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกระต่าย
ตำนานกระต่ายบนดวงจันทร์ มีอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าในแอฟริกา ทิเบต เม็กซิโก จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ แต่ทว่าแพร่หลายที่สุดในซีกโลกตะวันออก สันนิษฐานว่าตำนานกระต่ายในดวงจันทร์น่าจะมีต้นกำเนิดในประเทศอินเดีย
ตามตำนานอินเดีย เชื่อกันว่าภาพที่เห็นบนผิวดวงจันทร์คือ เทพแห่งดวงจันทร์ ชื่อจันทรา ผู้ซึ่งถือกระต่ายไว้ในมือ เนื่องจากคำว่ากระต่ายในภาษาสันสกฤตคือ ศศะ ดังนั้นจึงเรียกดวงจันทร์ว่า ศศิน แปลว่า ซึ่งมีกระต่าย
สำหรับในหมู่ชาวฮอตเทนทอต ชาวพื้นเมืองเร่ร่อนล่าสัตว์ ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ตำนานกระต่ายบนดวงจันทร์ช่วยอธิบายโรคปากแหว่ง (harelip) ตั้งแต่เกิดของคนเรา ตามตำนานพระจันทร์ส่งกระต่ายลงมายังโลกเพื่อบอกกับมนุษย์ว่าเมื่อเธอตายจะกลับฟื้นขึ้นอีกครั้ง แต่กระต่ายไม่ใส่ใจจึงจำข้อความผิด ๆ ถูก ๆ ไปบอกมนุษย์ว่า พระจันทร์ตายแล้ว จะไม่ฟื้นคืนมาใหม่ เมื่อพระจันทร์ทราบว่ากระต่ายทำอะไรลงไป ก็โกรธมากและพยายามจะใช้ขวานจามหัวกระต่าย แต่พลาดไปโดนริมฝีปากบนของกระต่ายแทน เจ้ากระต่ายบาดเจ็บก็ตอบแทนเธอด้วยการข่วนเข้าที่ใบหน้าด้วยอุ้งเล็บของมัน ทำให้เกิดรอยปื้นดำปรากฏบนดวงจันทร์ดังที่เห็นกันทุกวันนี้
ในนิทานแฝงคติธรรมทางพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับกระต่ายบนดวงจันทร์ เล่าว่า ครั้งหนึ่งมีกระต่าย ลิง นาก และสุนัขจิ้งจอก สาบานร่วมกันว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และบำเพ็ญตนเป็นฤๅษีอยู่ในป่า พระอินทร์อยากทดสอบในศรัทธาของสัตว์ทั้งสี่ จึงปลอมตัวเป็นพราหมณ์เที่ยวขอบริจาคทาน โดยไปขอจากลิงเป็นตัวแรก ลิงมอบมะม่วงให้ จากนั้นพราหมณ์ก็ไปขอทานจากนาก นากถวายปลาซึ่งมาตายเกยตื้นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ส่วนสุนัขจิ้งจอกก็ถวายนมหม้อหนึ่งและผลไม้แห้ง
เมื่อพราหมณ์เข้าไปขอบริจาคทานจากกระต่าย กระต่ายพูดกับพราหมณ์ว่า “ ข้ากินแต่หญ้าเป็นอาหาร หญ้าก็ไม่มีประโยชน์ใด ๆ กับท่านเลย ” พราหมณ์จึงเอ่ยขึ้นว่า ถ้ากระต่ายบำเพ็ญพรตเป็นฤๅษีที่แท้จริงแล้ว ขอให้สละชีวิตของตนเพื่อเป็นอาหารแก่พราหมณ์ กระต่ายตอบตกลงทันทีและทำตามที่พราหมณ์ขอร้องว่าให้กระโดดเข้ากองไฟเอง พราหมณ์จะได้ไม่ต้องลงมือฆ่าและปรุงกระต่ายเป็นอาหาร กระต่ายปีนขึ้นยืนบนก้อนหินและกระโดดเข้ากองไฟ ในขณะที่ร่างกระต่ายกำลังจะตกสู่เปลวเพลิงนั้น พราหมณ์ได้คว้าตัวกระต่ายไว้ แล้วเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงว่าคือใคร พระอินทร์นำกระต่ายไปไว้บนดวงจันทร์เพื่อให้สิ่งมีชีวิตทั้งมวลในโลกได้เห็นกระต่าย และรับรู้ว่ากระต่ายคือตัวอย่างแห่งการเสียสละตนอันยิ่งใหญ่
นิทานแฝงคติธรรมทำนองนี้ยังมีเนื้อเรื่องที่ต่างกันไปบ้างเล็กน้อย บางเรื่องก็ว่า ขณะที่พระพุทธเจ้าออกแสวงหาสัจธรรมได้หลงทางไปกลางป่า และมาพบกระต่ายเข้า กระต่ายถวายตัวเป็นอาหารแด่พระพุทธเจ้าโดยกระโดดเข้ากองไฟ แต่พระพุทธเจ้าได้แสดงบุญญาภินิหารช่วยชีวิตกระต่ายขึ้นจากกองไฟ และนำกระต่ายไปไว้บนดวงจันทร์
อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าในร่างของกระต่าย ยินยอมพลีร่างเป็นอาหารแก่สัตว์ที่กำลังอดอยากหิวโหย
อีกเรื่องหนึ่งว่า ทรงสละตัวเองแก่พระอินทร์ พระอินทร์จึงได้วาดรูปกระต่ายลงบนดวงจันทร์เพื่อเป็นเครื่องรำลึกชั่วนิรันดร์
ส่วนตำนานจีนเล่าว่า ภาพที่ปรากฏบนดวงจันทร์คือกระต่ายกำลังตำข้าวในครก กระต่ายตัวนี้เชื่อกันว่าเป็นผู้รับใช้เซียนหรือผู้วิเศษ โดยมีหน้าที่ปรุงยาอายุวัฒนะ
ชาวจีนกับ " เทพเจ้ากระต่าย "
ในบันทึกเยียนจิง (เป็นชื่อเรียกปักกิ่งในอดีต) ระบุไว้ว่า ในอดีตเมื่อถึงวันไหว้พระจันทร์ ชาวเมืองจะนำดินเหลืองมาปั้นเป็นรูปกระต่ายออกจำหน่าย โดยเรียกกระต่ายเหล่านี้ว่า “ เทพเจ้ากระต่าย ” เนื่องจากจีนมีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับกระต่ายหยกบนวังจันทรา ดังนั้นคนสมัยก่อนจึงเชื่อว่าเวลาไหว้พระจันทร์ก็ต้องถวายเทพเจ้ากระต่ายนั่นเอง
ยังมีอีกตำนานเล่าขานเกี่ยวกับความผูกพันระหว่างเมืองปักกิ่งกับกระต่ายเทพ ว่ากันว่ามีอยู่ปีหนึ่งในเมืองปักกิ่งเกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดหนัก เกือบทุกบ้านมีผู้ติดเชื้อ รักษาอย่างไรก็ไม่หาย เมื่อเทพธิดาฉางเอ๋อซึ่งอยู่บนดวงจันทร์ได้มองลงมาเห็นภัยพิบัติบนโลกมนุษย์ ก็รู้สึกทุกข์ใจยิ่ง จึงได้ส่งกระต่ายหยกข้างกายที่ปกติตำยาอยู่บนดวงจันทร์ลงมารักษาโรคให้ชาวบ้าน
กระต่ายหยกแปลงกายเป็นหญิงสาวไปรักษาผู้คนจนหายจากโรค ชาวบ้านรู้สึกซาบซึ้งใจในความช่วยเหลือ จึงได้ตอบแทนด้วยการให้สิ่งของ แต่กระต่ายหยกไม่ยอมรับสิ่งใดเลย แค่ขอยืมชุดชาวบ้านใส่ ไปถึงไหนก็จะเปลี่ยนชุดไปเรื่อย บางทีก็เห็นแต่งกายเป็นคนขายน้ำมัน บ้างก็เป็นหมอดูดวง บ้างแต่งกายเป็นชาย บ้างแต่งเป็นหญิง และเพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้คนได้มากขึ้น กระต่ายหยกจะขี่ม้าบ้าง กวางบ้าง สิงโตบ้าง หลังจากกำจัดโรคภัยให้ชาวเมืองเสร็จเรียบร้อย กระต่ายหยกก็กลับขึ้นไปยังวังจันทรา นับแต่นั้นมาชาวบ้านจึงได้กราบไหว้บูชาเทพเจ้ากระต่าย
หลังจากผ่านกาลเวลาหลายสมัย ศิลปินจีนจึงได้พัฒนารูปลักษณ์ของเทพเจ้ากระต่ายให้มีเอกลักษณ์มากขึ้น โดยช่างจะปั้นให้กระต่ายเทพมีเศียรเป็นกระต่ายร่างกายเป็นคน มือถือสากหยกตำยา ประทับอยู่บนสัตว์พาหนะ ที่เห็นบ่อย ๆ ก็คือเสือ
ส่วนต้นกำเนิดความเชื่อของเทพเจ้ากระต่ายมีขึ้นในสมัยใดนั้น ยังเป็นที่ถกเถียง แต่ที่แน่ ๆ คือในสมัยราชวงศ์หมิงชาวบ้านก็เริ่มนิยมนำเทพเจ้ากระต่ายมาเป็นเครื่องเซ่นไหว้พระจันทร์แล้ว จวบจนในสมัยราชวงศ์ชิงบทบาทของเทพเจ้ากระต่ายเริ่มเปลี่ยนแปลงกลายมาเป็นของเล่นเด็กในวันเทศกาลไหว้พระจันทร์ เพราะสมัยก่อนหากคิดจะกล่อมให้เด็กเชื่อฟัง พ่อแม่ก็มักจะเอาเรื่องเล่าของเทพเจ้ามาหลอมรวมกัน ดังนั้นเทพเจ้ากระต่ายจึงนับเป็นของเล่นเก่าแก่ของเมืองหลวงจีนและยังเป็นงานศิลปะที่สะท้อนชีวิตชาวปักกิ่งในวันวารด้วย ปัจจุบันใครได้ไปปักกิ่งยังคงเห็นเทพเจ้ากระต่ายในบางร้าน แต่ก็ไม่พรั่งพรูเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
กระต่ายจอมกวน " Bugs Bunny "
จอมกวน Bugs Bunny กระต่ายยังเป็นตัวการ์ตูนสุดคลาสสิกระดับโลกของเด็ก ๆ ทุกคนคงรู้จัก Bugs Bunny (บักส์ บันนี่) เป็นอย่างดี บักส์ บันนี่ เป็นกระต่ายเท่ห์ ชอบแทะแครอตเป็นนิจ ไม่แสดงออกถึงความเป็นกระต่ายป่า มันเป็นกระต่ายที่มีไหวพริบ ชอบใช้สมอง พูดจานุ่มนวล แต่แฝงไว้ด้วยความหลักแหลม บักส์ บันนี่ ใช้สมองในการหาเล่ห์กลทุกรูปแบบเพื่อเอาชนะผู้ที่มาแข่งขันด้วย ประโยคติดปากที่มันชอบพูดก็คือ "What's Up Doc?"
" บักส์ บันนี่ " เป็นหนึ่งในตัวการ์ตูนของ ลูนีย์ทูนส์ บันทึกของนักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์และการ์ตูนระบุว่า บักส์ บันนี่ ปรากฎตัวครั้งแรกในการ์ตูนสั้น Porky' s Hare Hunt ฉายครั้งแรก วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2481 เป็นงานร่วมกันกำกับของ แคล ดัลตัน และเบ็น ฮาร์ดเวย์ ( ฮาร์เวย์ นั้นมีชื่อเล่นว่า " บักส์ " ) โดยเล่าเรื่องราวของนักล่าสัตว์นาม พอร์คกี้ พิก พรานผู้มีท่าทางต๊อง ๆ
และในหนึ่งในสัตว์ผู้ถูกล่านั่นก็คือกระต่าย ซึ่งต่อมาผู้คนทั้งโลกรู้จักกันในนาม " บักส์ บันนี่ " ปรากฎอยู่ในการ์ตูนชุดนี้อีกหลายตอน โดยผู้กำกับหลายคน เรื่องราวของเขาเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์บ้านเมืองในแต่ละยุคสมัย แต่ที่สำคัญและทำให้เจ้ากระต่ายนี้โดดเด่นคือการเผชิญหน้ากับ " ผู้ล่า " ด้วยท่าทางวิธีการพิลึกพิลั่น
กระต่ายสุดเซ็กซี่ " Playboy "
กระต่าย PlayBoy ถือเป็นสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของนิตยสารปลุกใจเสือป่าชื่อก้องโลก ชื่อ PlayBoy ซึ่งมี " ฮิวจ์ เฮฟเนอร์ " เป็นเจ้าของ และก่อตั้งเป็นบริษัทขึ้นในปี ค.ศ.1953 สืบเนื่องจากนิตยสาร PlayBoy ได้รับการตอบรับจากแฟนคลับอย่างล้นหลาม
" Playboy " มีภาพนู้ด มาลิลีน มอนโร เซ็กซี่สตาร์อันโด่งดังขึ้นปกฉบับปฐมฤกษ์ เป็น " เพลย์เมต " หรือ " สาวเพล์บอย " คนแรก เพล์บอยเล่มแรกมาจากการระดมทุนเพียง 8,000 ดอลลาร์ จากเพื่อนและญาติพี่น้อง แต่ปรากฎว่าได้รับการตอบรับดีเกินคาด ( โดนยเฉพาะผู้ชาย )
ความสำเร็จผลักดันให้เฮฟเนอร์เดินหน้าเร่ขายความฝันต่อ เขาตอบสนองความต้องการของผู้อ่านชายที่มีไลฟ์สไตล์หรูหราด้วยการผสมระหว่างบทความจากนักเขียนดัง ๆ การ์ตูนคมคายและภาพถ่ายสาว ๆ ในชุดวาบหวิว เขาต้องการให้เพล์บอยเป็นอาณาจักรธุรกิจที่ยิ่งใหญ่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นหนึ่งในสินค้าที่มีผู้จดจำได้มากที่สุดในโลก จึงสร้างตราสัญลักษณ์ " กระต่ายผูกโบไทด์ " ขึ้นมาสื่อถึงความแสนซน น่ารัก สดใสของอิสตรี
จากนิตยสาร เฮฟเนอร์เข้าสู่วงการโทรทัศน์ สู่ธุรกิจแฟชั่นด้วยการผลิตสินค้าต่าง ๆ นานา ติดยี่ห้อกระต่ายเพล์บอย และก่อตั้งเพล์บอยคลับแห่งแรกขึ้น ณ นครชิคาโก ในปี ค.ศ.1963 สาว ๆ บริการในคลับแห่งนี้แต่งกายเป็นกระต่ายน้อยบันนี่ หรือ " บันนี่ เกิร์ล " มีท่าเต้นบันนี่ ดิฟ ที่สุดแสนเซ็กซี่ ครีเอตโดย " ฮิวส์ เคธ " น้องคนเล็กของเฮฟเนอร์
บันนี่ เกิร์ล มีกฎเหล็กห้ามละเมิดไม่ว่ากรณีใด ๆ พิมพ์ไว้เป็นเล่มหนา 44 หน้า หนึ่งในนั้นที่ต้องจดจำไว้ให้มั่นคือ " สิ่งที่ภูมิใจที่สุดก็คือหางปุยที่อยู่ตรงก้น ที่จะต้องให้มันขาวสะอาดฟูฟ่องอยู่เสมอ "
ภาษิตและคำพังเพย เกี่ยวกับกระต่าย
" กระต่ายตื่นตูม " ใช้เปรียบเทียบกับคนที่แสดงอาการตื่นตกใจง่าย โดยไม่ทันสำรวจตัวเองให้ถ่องแท้เสียก่อน
" กระต่ายสามขา " หมายถึง การยืนกรานไม่ยอมรับ บางแห่งก็ใช้กระต่ายขาเดียว
" กระต่ายหมายจันทร์ " หมายถึง ผู้ชายที่หมายปองหญิงสาวที่มีฐานะดีกว่าตน
" ยิงกระต่าย " หมายถึง การไปปัสาวะข้างทาง ( ใช้กับผู้ชาย ถ้าเป็นผู้หญิงมักใช้คำว่าไปเก็บดอกไม้ )
" หนวดเต่า เขากระต่าย " หมายถึง ของดี ของวิเศษที่หาได้ยาก หรือหาไม่ได้เลย
" กระต่ายแก่แม่ปลาช่อน " หมายถึง คนที่เต็มไปด้วยมายาเล่ห์เหลี่ยม ( ภายหลังคำนี้ได้เพี้ยนไปเป็น " ไก่แก่แม่ปลาช่อน " ที่หมายถึงหญิงค่อนข้างมีอายุที่มีมารยาเล่ห์เหลี่ยม และมีจริตกิริยาจัดจ้าน )
และนี่คือเรื่องสัพเพเหระเกี่ยวกับ " กระต่าย " ที่นำมาให้อ่านกันเล่น ๆ สนุก ๆ