21.2.54

ปีนักษัตรตามศาสตร์หมากรุกจีน

          หลายคนมีความสับสนว่าเราเกิดปีนักษัตรไหนกันแน่ เพราะหลายตำราการเปลี่ยนปีนักษัตรจะไม่เหมือนกัน ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเราจะใช้ศาสตร์ไหนในการทำนาย เราก็อ้างอิงนักษัตรของศาสตร์นั้น

          การเปลี่ยนปีนักษัตรใหม่มีใช้หลายแบบ เช่น ตามสูติบัตรปัจจุบัน การบันทึกสูติบัตรกำหนดนับปีนักษัตรใหม่ตามปฏิทินหลวง (แนวทางปฏิบัติตาม หนังสือเวียนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0310.1/ว4 ออกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2539) ซึ่งปฏิทินหลวงให้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 (อ้าย) เป็นวันที่เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่โดยจะอยู่ช่วงเดือนพฤศจิกายน , ธันวาคม หรือเปลี่ยนปีนักษัตรตามคติพราหมณ์ เปลี่ยนปีในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้า(5) โดยจะอยู่ช่วงประมาณเดือนมีนาคม

          นอกจากนั้นก็มีการเปลี่ยนปีนักษัตรในวันอื่น ๆ เช่น เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันที่ 1 มกราคม (ตามปฎิทินของ อ.ทองเจือ อ่างแก้ว) , เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันที่ 1 เมษายน (ตามปฎิทินของ อ.เทพย์ สาริกบุตร) , เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันเถลิงศก (ช่วงวันที่ 15-17 เมษายน ตามประกาศสงกรานต์) , เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันสังขารล่องหรือวันสงกรานต์ตามแบบทางภาคเหนือ , เปลี่ยนปีนักษัตรแบบจีน ในวันสารทลิบชุน (立春) ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ก่อนวันตรุษจีน

          ทั้งนี้จะใช้เปลี่ยนปีนักษัตรแบบใด ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ทำการใด หรือครูอาจารย์ท่านใช้ปฏิทินแบบใดเป็นหลัก เช่น จะพยากรณ์ทางโหราศาสตร์ก็ใช้ปีนักษัตรตามคติพราหมณ์ ซึ่งเปลี่ยนปีนักษัตรในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้า(5) เป็นต้น

          สำหรับการเปลี่ยนปีนักษัตรตามศาสตร์หมากรุกจีน จะเปลี่ยนปีใหม่ช่วงปลายเดือนธันวาคมของทุกปี ตามปฎิทินชาวนาซึ่งเป็นปฎิทินโบราณของจีนที่ใช้กันมานานหลายพันปีแล้ว ซึ่งจะไม่ตรงกับการเปลี่ยนปีนักษัตรแบบจีนยุคใหม่ที่เปลี่ยนในวันสารทลิบชุน (立春) ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ก่อนวันตรุษจีน


ปีนักษัตรตามศาสตร์หมากรุกจีน

21.40 น. จันทร์ 22 ธันวาคม 2473(1930) - 03.29 น. พุธ 23 ธันวาคม 2474(1931) มะแม

03.30 น. พุธ 23 ธันวาคม 2474(1931) - 09.13 น. พฤหัส 22 ธันวาคม 2475(1932) วอก

09.14 น.พฤหัส 22 ธันวาคม 2475(1932) - 14.57 น.ศุกร์ 22 ธันวาคม 2476(1933) ระกา

14.58 น. ศุกร์ 22 ธันวาคม 2476(1933) - 20.49 น. เสาร์ 22 ธันวาคม 2477(1934) จอ

20.50 น. เสาร์ 22 ธันวาคม 2477(1934) - 02.36 น. จันทร์ 23 ธันวาคม 2478(1935) กุน

02.37 น.จันทร์ 23 ธันวาคม 2478(1935) - 08.26 น.อังคาร 22 ธันวาคม 2479(1936) ชวด

08.27 น. อังคาร 22 ธันวาคม 2479(1936) - 14.21 น. พุธ 22 ธันวาคม 2480(1937) ฉลู

14.22 น. พุธ 22 ธันวาคม 2480(1937) - 20.13 น. พฤหัส 22 ธันวาคม 2481(1938) ขาล

20.14 น.พฤหัส 22 ธันวาคม 2481(1938) - 02.05 น.เสาร์ 23 ธันวาคม 2482(1939) เถาะ

02.06 น.เสาร์23 ธันวาคม 2482(1939) - 07.54 น.อาทิตย์22 ธันวาคม 2483(1940) มะโรง

07.55 น.อาทิตย์22 ธันวาคม2483(1940) - 13.43 น.จันทร์22 ธันวาคม2484(1941) มะเส็ง

13.44 น.จันทร์22 ธันวาคม2484(1941) - 19.39 น.อังคาร22 ธันวาคม2485(1942) มะเมีย

19.40 น.อังคาร22 ธันวาคม2485(1942) - 01.28 น.พฤหัส23 ธันวาคม2486(1943) มะแม

01.29 น. พฤหัส 23 ธันวาคม 2486(1943) - 07.14 น. ศุกร์ 23 ธันวาคม 2487(1944) วอก

07.15 น. ศุกร์ 23 ธันวาคม 2487(1944) - 13.03 น. เสาร์ 22 ธันวาคม 2488(1945) ระกา

13.04 น. เสาร์ 22 ธันวาคม 2488(1945) - 18.53 น. อาทิตย์ 22 ธันวาคม 2489(1946) จอ

18.54 น.อาทิตย์22 ธันวาคม 2489(1946) - 00.42 น.อังคาร23 ธันวาคม 2490(1947) กุน

00.43 น. อังคาร 23 ธันวาคม 2490(1947) - 06.33 น. พุธ 22 ธันวาคม 2491(1948) ชวด

06.34 น. พุธ 22 ธันวาคม 2491(1948) - 12.22 น. พฤหัส 22 ธันวาคม 2492(1949) ฉลู

12.23 น. พฤหัส 22 ธันวาคม 2492(1949) - 18.13 น. ศุกร์ 22 ธันวาคม 2493(1950) ขาล

18.14 น.ศุกร์ 22 ธันวาคม 2493(1950) - 23.59 น.อาทิตย์ 23 ธันวาคม 2494(1951) เถาะ

00.00 น.อาทิตย์23 ธันวาคม2494(1951) - 05.42 น.จันทร์22 ธันวาคม2495(1952) มะโรง

05.43 น.จันทร์22 ธันวาคม 2495(1952) - 11.31 น.อังคาร22 ธันวาคม 2496(1953) มะเส็ง

11.32 น.อังคาร 22 ธันวาคม 2496(1953) - 17.24 น.พุธ 22 ธันวาคม 2497(1954) มะเมีย

17.25 น.พุธ 22 ธันวาคม 2497(1954) - 23.10 น.พฤหัส 22 ธันวาคม 2498(1955) มะแม

23.11 น.พฤหัส 22 ธันวาคม 2498(1955) - 04.59 น.เสาร์ 22 ธันวาคม 2499(1956) วอก

05.00 น.เสาร์22 ธันวาคม 2499(1956) - 10.48 น.อาทิตย์22 ธันวาคม 2500(1957) ระกา

10.49 น.อาทิตย์ 22 ธันวาคม 2500(1957) - 16.39 น.จันทร์ 22 ธันวาคม 2501(1958) จอ

16.40 น. จันทร์ 22 ธันวาคม 2501(1958) - 22.34 น. อังคาร 22 ธันวาคม 2502(1959) กุน

22.35 น.อังคาร22 ธันวาคม 2502(1959) - 04.25 น.พฤหัส22 ธันวาคม 2503(1960) ชวด

04.26 น. พฤหัส 22 ธันวาคม 2503(1960) - 10.19 น. ศุกร์ 22 ธันวาคม 2504(1961) ฉลู

10.20 น. ศุกร์ 22 ธันวาคม 2504(1961) - 16.15 น. เสาร์ 22 ธันวาคม 2505(1962) ขาล

16.16 น.เสาร์22 ธันวาคม 2505(1962) - 22.01 น.อาทิตย์22 ธันวาคม 2506(1963) เถาะ

22.02 น.อาทิตย์22 ธันวาคม2506(1963) - 03.49 น.อังคาร22 ธันวาคม2507(1964) มะโรง

03.50 น.อังคาร 22 ธันวาคม 2507(1964) - 09.40 น.พุธ 22 ธันวาคม 2508(1965) มะเส็ง

09.41 น.พุธ 22 ธันวาคม 2508(1965) - 23.12 น.พฤหัส 22 ธันวาคม 2509(1966) มะเมีย

23.13 น.พฤหัส 22 ธันวาคม 2509(1966) - 21.16 น.ศุกร์ 22 ธันวาคม 2510(1967) มะแม

21.17 น.ศุกร์ 22 ธันวาคม 2510(1967) - 02.59 น.อาทิตย์ 22 ธันวาคม 2511(1968) วอก

03.00 น.อาทิตย์22 ธันวาคม 2511(1968) - 08.43 น.จันทร์22 ธันวาคม 2512(1969) ระกา

08.44 น. จันทร์ 22 ธันวาคม 2512(1969) - 14.35 น. อังคาร 22 ธันวาคม 2513(1970) จอ

14.36 น. อังคาร 22 ธันวาคม 2513(1970) - 20.23 น. พุธ 22 ธันวาคม 2514(1971) กุน

20.24 น. พุธ 22 ธันวาคม 2514(1971) - 02.12 น. ศุกร์ 22 ธันวาคม 2515(1972) ชวด

02.13 น. ศุกร์ 22 ธันวาคม 2515(1972) - 08.07 น. เสาร์ 22 ธันวาคม 2516(1973) ฉลู

08.08 น.เสาร์ 22 ธันวาคม 2516(1973) - 13.55 น.อาทิตย์ 22 ธันวาคม 2517(1974) ขาล

13.56 น.อาทิตย์22 ธันวาคม 2517(1974) - 19.45 น.จันทร์22 ธันวาคม 2518(1975) เถาะ

19.46 น. จันทร์ 22 ธันวาคม 2518(1975) - 01.35 น. พุธ 22 ธันวาคม 2519(1976) มะโรง

01.36 น.พุธ 22 ธันวาคม 2519(1976) - 07.23 น.พฤหัส 22 ธันวาคม 2520(1977) มะเส็ง

07.24 น.พฤหัส22 ธันวาคม 2520(1977) - 13.20 น.ศุกร์22 ธันวาคม 2521(1978) มะเมีย

13.21 น. ศุกร์ 22 ธันวาคม 2521(1978) - 19.09 น. เสาร์ 22 ธันวาคม 2522(1979) มะแม

19.10 น. เสาร์ 22 ธันวาคม 2522(1979) - 00.55 น. จันทร์ 22 ธันวาคม 2523(1980) วอก

00.56 น.จันทร์22 ธันวาคม 2523(1980) - 06.50 น.อังคาร22 ธันวาคม 2524(1981) ระกา

06.51 น. อังคาร 22 ธันวาคม 2524(1981) - 12.38 น. พุธ 22 ธันวาคม 2525(1982) จอ

12.39 น. พุธ 22 ธันวาคม 2525(1982) - 18.29 น. พฤหัส 22 ธันวาคม 2526(1983) กุน

18.30 น. พฤหัส 22 ธันวาคม 2526(1983) - 23.05 น. เสาร์ 22 ธันวาคม 2527(1984) ชวด

23.06 น. เสาร์ 22 ธันวาคม 2527(1984) - 06.07 น. อาทิตย์ 22 ธันวาคม 2528(1985) ฉลู

06.08 น.อาทิตย์22 ธันวาคม 2528(1985) - 12.02 น.จันทร์22 ธันวาคม 2529(1986) ขาล

12.03 น.จันทร์22 ธันวาคม 2529(1986) - 17.45 น.อังคาร22 ธันวาคม 2530(1987) เถาะ

17.46 น.อังคาร22 ธันวาคม 2530(1987) - 23.27 น.พุธ21 ธันวาคม 2531(1988) มะโรง

23.28 น. พุธ 21 ธันวาคม 2531(1988) - 05.21 น. ศุกร์ 22 ธันวาคม 2532(1989) มะเส็ง

05.22 น. ศุกร์ 22 ธันวาคม 2532(1989) - 11.06 น. เสาร์ 22 ธันวาคม 2533(1990) มะเมีย

11.07 น.เสาร์22 ธันวาคม 2533(1990) - 16.53 น.อาทิตย์22 ธันวาคม 2534(1991) มะแม

16.54 น.อาทิตย์22 ธันวาคม 2534(1991) - 22.43 น.จันทร์21 ธันวาคม 2535(1992) วอก

22.44 น. จันทร์ 21 ธันวาคม 2535(1992) - 04.25 น. พุธ 22 ธันวาคม 2536(1993) ระกา

04.26 น. พุธ 22 ธันวาคม 2536(1993) - 10.22 น. พฤหัส 22 ธันวาคม 2537(1994) จอ

10.23 น. พฤหัส 22 ธันวาคม 2537(1994) - 16.17 น. ศุกร์ 22 ธันวาคม 2538(1995) กุน

16.18 น. ศุกร์ 22 ธันวาคม 2538(1995) - 22.05 น. เสาร์ 21 ธันวาคม 2539(1996) ชวด

22.06 น. เสาร์ 21 ธันวาคม 2539(1996) - 04.07 น. จันทร์ 22 ธันวาคม 2540(1997) ฉลู

04.08 น.จันทร์ 22 ธันวาคม 2540(1997) - 09.56 น.อังคาร 22 ธันวาคม 2541(1998) ขาล

09.57 น. อังคาร 22 ธันวาคม 2541(1998) - 15.43 น. พุธ 22 ธันวาคม 2542(1999) เถาะ

15.44 น. พุธ 22 ธันวาคม 2542(1999) - 21.36 น. ศุกร์ 22 ธันวาคม 2543(2000) มะโรง

21.37 น. ศุกร์ 22 ธันวาคม 2543(2000) - 03.20 น. เสาร์ 22 ธันวาคม 2544(2001) มะเส็ง

03.21 น.เสาร์22 ธันวาคม2544(2001) - 09.13 น.อาทิตย์22 ธันวาคม2545(2002) มะเมีย

09.14 น.อาทิตย์22 ธันวาคม2545(2002) - 15.04 น.จันทร์22 ธันวาคม2546(2003) มะแม

15.05 น.จันทร์22 ธันวาคม 2546(2003) - 20.42 น.อังคาร21 ธันวาคม 2547(2004) วอก

20.43 น.อังคาร21 ธันวาคม 2547(2004) - 02.36 น.พฤหัส22 ธันวาคม 2548(2005) ระกา

02.37 น. พฤหัส 22 ธันวาคม 2548(2005) - 08.23 น. ศุกร์ 22 ธันวาคม 2549(2006) จอ

08.24 น. ศุกร์ 22 ธันวาคม 2549(2006) - 14.08 น. เสาร์ 22 ธันวาคม 2550(2007) กุน

14.09 น.เสาร์22 ธันวาคม 2550(2007) - 20.04 น.อาทิตย์21 ธันวาคม 2551(2008) ชวด

20.05 น.อาทิตย์21 ธันวาคม 2551(2008) - 01.47 น.อังคาร22 ธันวาคม 2552(2009) ฉลู

01.48 น. อังคาร 22 ธันวาคม 2552(2009) - 07.39 น. พุธ 22 ธันวาคม 2553(2010) ขาล

07.40 น. พุธ 22 ธันวาคม 2553(2010) - 13.31 น. พฤหัส 22 ธันวาคม 2554(2011) เถาะ

13.32 น.พฤหัส22 ธันวาคม 2554(2011) - 19.12 น.ศุกร์21 ธันวาคม 2555(2012) มะโรง

19.13 น.ศุกร์21 ธันวาคม 2555(2012) - 01.12 น.อาทิตย์22 ธันวาคม 2556(2013) มะเส็ง

01.13 น.อาทิตย์22 ธันวาคม2556(2013) - 07.04 น.จันทร์22 ธันวาคม2557(2014) มะเมีย

07.05 น.จันทร์22 ธันวาคม 2557(2014) - 12.49 น.อังคาร22 ธันวาคม 2558(2015) มะแม

12.50 น. อังคาร 22 ธันวาคม 2558(2015) - 18.45 น. พุธ 21 ธันวาคม 2559(2016) วอก

18.46 น. พุธ 21 ธันวาคม 2559(2016) - 00.29 น. ศุกร์ 22 ธันวาคม 2560(2017) ระกา

00.30 น. ศุกร์ 22 ธันวาคม 2560(2017) - 05.23 น. เสาร์ 22 ธันวาคม 2561(2018) จอ

05.24 น. เสาร์ 22 ธันวาคม 2561(2018) - 12.20 น. อาทิตย์ 22 ธันวาคม 2562(2019) กุน

12.21 น.อาทิตย์22 ธันวาคม 2562(2019) - 18.03 น.จันทร์21 ธันวาคม 2563(2020) ชวด

18.04 น. จันทร์ 21 ธันวาคม 2563(2020) - 00.00 น. พุธ 22 ธันวาคม 2564(2021) ฉลู

00.01 น. พุธ 22 ธันวาคม 2564(2021) - 05.49 น. พฤหัส 22 ธันวาคม 2565(2022) ขาล


                                                         กลับ



      


      


            

10.2.54

พุทธฎีกาพยากรณ์

          เรื่องพุทธทำนาย หรือ พุทธฏีกาพยากรณ์ของพระพุทธองค์นั้น ได้มีการเผยแพร่แก่สาธารณชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหล่าพุทธบริษัท ผู้ยึดมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานานหลายร้อยปีทีเดียว ทั้งจากคำบอกเล่าของพระเถรานุเถระที่เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เล่าสืบต่อกันมา มีการบันทึกเอาไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนา แม้กระทั่งที่อินเดียเองในเขตมหาวิหารสวนมฤคทายวัน อันเป็นที่แสดงธรรมโปรดแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็ได้มีการบันทึกเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรบนแผ่นหิน หรือ "ศิลาจารึก" (เข้าใจว่าเป็นภาษามคธ หรือภาษาบาลี) และในส่วนที่เป็นภาษาไทยที่มีการพิมพ์เผยแพร่ดังท่านได้อ่านท่านพระอาจารย์จรัญ ฐิตธัมโม แห่งวัดอัมพวัน สิงห์บุรี

          สาธุ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระสัพพัญญูรู้แจ้งโลกทั้งในอดีตและอนาคต ทรงมีเมตตากรุณาแก่สัตว์โลกเป็นล้นพ้น เมื่อครั้งพระองค์ดำรงพระชนมายุอยู่ ได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า

          ดูก่อนอานนท์ เมื่อศาสนาตถาคตล่วงเลยไปถึงกึ่งพุทธกาล สัตว์โลกทั้งหลาย ที่เกิดในยุคนั้นจะพบแต่ความลำบากทุกชาติทุกศาสนา ตามธรรมชาติอันหมุนเวียนของโลก ที่หมุนไปใกล้ความแตกทำลายแผ่นดินแผ่นน้ำจะลุกเป็นไฟ มนุษย์และสัตว์จะได้รับภัยพิบัติสารพัดทั่วทิศ

          คนในสมัยนั้น(คือปัจจุบัน) จะมีวิสัยโหดดุจกำเนิดจากสัตว์ป่าอำมหิต จะรบราฆ่าฟันกันถึงเลือดนองแผ่นดินแผ่นน้ำ ส่วนเวไนยสัตว์ผู้ขวนขวายในกุศลตามวัจนะของตถาคต ก็จะระงับร้อนไม่รุนแรง บ้านเมืองใดมีความเคารพยำเกรงในพระรัตนตรัยและคุณบิดามารดา เหตุร้ายภัยพิบัติจักเบาบาง แต่ก็จะหนีกฎแห่งธรรมชาติไม่พ้น

          เริ่มแต่พระพุทธศาสนาล่วงเลย ๒,๕๐๐ ปีเป็นต้นไป ไฟจะลุกลามมาทางทิศตะวันออก ไหม้วัดวาอาราม สมณะชีพราหมณ์จะอดอยากยากเข็ญ ลูกไฟจะตกจากฟ้าเป็นเพลิงเผาผลาญ เหล็กกล้าจะทะยานจากน้ำ มหาสมุทรจะชอกช้ำ สงครามจะทั่วทิศ ศึกจะติดเมือง ข้าวจะขาดแคลน ทั่วแคว้นจะอดอยากผีโขมดป่าจะเข้าเมือง พระเสื้อเมืองทรงเมืองจะหนีเข้าไพร ผู้เป็นใหญ่มีอำนาจจะเรียกแมลงผีเสื้อเหล็กนับแสนตัว มาปล่อยไข่เป็นไฟผลาญ ยักษ์หินที่ถูกสาปให้หลับมาเป็นเวลานานจะตื่นขึ้นมาอาละวาด โลกดินฟ้าอากาศจะแปรปรวน ตลิ่งจะพัง แผ่นดินจะล่มเป็นทะเล โลกมนุษย์จะดิ่งสู่ความหายนะ นักปราชญ์จะถูกทำร้ายให้สิ้นสูญ ในระยะนั้นศาสนาของตถาคตเสื่อมลงมาก เพราะพุทธบริษัทไม่ตั้งอยู่ในศีลในธรรมเชื่อคำของคนโกงกล่าวคำเท็จ ไม่เคารพหลักธรรมนิยม คนประจบสอพลอได้รับการเชื่อถือในสังคม ผู้มีศีลธรรมประพฤติปฏิบัติดี กลับไม่มีใครเคารพยำเกรง

          พระธรรมจะเริ่มเปล่งแสงรัศมีฉายส่องโลกอีกวาระหนึ่ง ก็ต่อเมื่อมีธรรมิกราชโพธิญาณบังเกิดขึ้น อยู่ในความอุปถัมภ์ของพระเถระผู้ทรงธรรมฤทธิ์ ทั้งสองพระองค์สถิตย์อยู่ ณ เบื้องทิศตะวันออกของมัชฌิมประเทศ จะเสด็จมาเสริมสร้างศาสนาของตถาคตให้รุ่งเรืองสืบไปถึง ๕,๐๐๐ พระวรรษา

           ดูก่อนอานนท์ เวลานั้นพลโลกเหลือน้อย คำทำนายของตถาคตนี้ ย่อมยังเวไนยสัตว์ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ผู้ใดรู้แล้วไม่เชื่อนับว่าเป็นกรรมของสัตว์โลก ที่ต้องสิ้นสุดไปตามกรรมชั่วของตน ผู้ใดปรารถนารอดพ้นจากภัยพิบัติ ให้รักษาศีล ๕ ประการ เจริญเมตตากรุณา ประกอบสัมมาอาชีพ มีใจสันโดษรู้จักพอ ไม่โป้ปดคดโกง ไม่หลงมัวเมาอำนาจและลาภยศ ตั้งใจประพฤติตนตามคำสอนของตถาคตให้มั่นคง จึงพ้นอันตรายในยุคกึ่งพุทธกาล

          พระพุทธทำนายหรือพุทธฏีกาพยากรณ์ดังว่านี้ พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสแก่พระอานนท์ พระพุทธอนุชา ซึ่งปรนนิบัติรับใช้ใกล้ชิดจวบจนเสด็จสู่ปรินิพพาน อันพระอานนท์นั้นนับได้ว่าเป็นผู้ที่ฟังธรรมของพระพุทธองค์มากที่สุด เป็นบุคคลสำคัญในการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ ๑ ท่านเป็นผู้ที่มีความจำเป็นเลิศ ท่านได้ถ่ายทอดหลักธรรมของพระพุทธองค์ที่ได้ยินได้ฟังมา แก่ที่ประชุมสงฆ์ และได้ใช้เป็นหลักคำสอนในพระพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้

          เมื่อพระพุทธองค์ทรงประกาศพระศาสนา ได้ทรงมีพุทธดำรัสว่า ศาสนาของพระพุทธองค์นั้น จะมีอายุเพียง ๕,๐๐๐ ปี เท่านั้น ต่อจากนั้นโลกก็จะว่างจากศาสนา อยู่ในช่วงกลียุคจวบจนถึงวาระอันควร โลกก็จะอุบัติพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาใหม่อีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า "พระศรีอาริยเมตไตรย์" เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ นับเป็นองค์สุดท้ายในภัทรกัปป์นี้

          ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ท่านได้ตรัสถามแก่พระอานนท์ว่า ในศาสนาของตถาคตรวม ๕,๐๐๐ ปีนี้ใครจะขออะไรบ้าง

- พระอานนท์ก็ทูลขอให้พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ภิกษุณี ชี พราหมณ์ อุบาสก อุบาสิกา เป็นผู้ดูแลและบำรุงพระศาสนาเป็นเวลา ๒,๕๐๐ปี

พระพุทธองค์ก็ตรัสถามต่อไปว่า ใครจะขออะไรอีก

- เหล่าเทพยดาทั้งหลาย ทั้งพระอินทร์ พระพรหม จึงทูลขอให้เหล่าทวยเทพทั้งหลาย ได้ปรนนิบัติบำรุงพระศาสนา เพียงครึ่งหนึ่งของพระอานนท์ คือ ๑,๒๕๐ ปี

พระองค์ก็ทรงอนุญาตและก็ได้ตรัสถามต่อไปอีกว่า ยังเหลืออยู่ ๑,๒๕๐ ปี นั้นเล่า ใครจะขอต่อไป

- บรรดาเหล่าครุฑาวาสุกรี คนธรรม์ นาฏกุเวร นาคราช กินนร กินรี และภูติผีปีศาจ จึงทูลขอคุ้มครองดูแล และปรนนิบัติบำรุงต่อไปอีก ๑,๒๕๐ ปี โดยร่วมแรงร่วมใจกันผนึกกำลังกันไปจนกว่าศาสนาจะค่อย ๆ เรียวลงไป มนุษย์ก็จะเล็กลง ๆ ไปตามลำดับ ถึงกับจะต้องขึ้นแป้นขึ้นบันได สอยลูกมะเขือ ปีนขึ้นต้นเก็บเม็ดพริก พระสงฆ์องคเจ้าก็จะร่อยหรอเหลือไว้เพียงผ้าเหลืองผืนน้อย ๆ ห้อยอยู่ที่หูเพื่อได้เป็นที่สังเกตดูว่านั่นแหละพระสงฆ์ จนกระทั่งเล็กลงหรือเรียวลง เสื่อมลงจนหมดสิ้นพอดี ๕,๐๐๐ปี ตามพระพุทธฏีกากำหนดไว้

 
          ในพุทธทำนายบอกว่า เหตุการณ์ในคำทำนายจะบังเกิดขึ้นหลังจากพระพุทธศาสนาล่วงแล้ว ๒,๕๐๐ ปี หรือ กึ่งพุทธศตวรรษ (พุทธศตวรรษ คือกำหนดอายุพระพุทธศาสนา ที่ได้ทรงกำหนดไว้เพียง ๕,๐๐๐ ปี) แต่เท่าที่ปรากฎในปัจจุบัน เหตุการณ์เลวร้ายดังพุทธทำนายได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น โดยดูได้จากสงครามโลก ทั้งสองครั้งที่ผ่านมาล้วนเกิดก่อนพุทธศักราช ๒๕๐๐ ทั้งสิ้น ผลของคำทำนายนั้นมีโอกาสเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ ตรงตามเวลาหรือคลาดเคลื่อนก็ได้ และต้นเหตุที่ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนคลาดเคลื่อน หรือผิดไปจากคำทำนายนั้นก็คือ "กรรมปัจจุบัน"

          ขอยกตัวอย่างย้อนหลังถึงคำทำนายของพระสารีบุตร ที่มีต่อสามเณรในสำนัก ที่ทำนายว่าเณรจะต้องตายภายใน ๗ วัน แล้วเณรไม่ตายเพราะนำปลาที่ใกล้ตายไปปล่อยในแม่น้ำสายใหญ่ กรรมที่เณรปล่อยปลานั้นเป็นกรรมปัจจุบันที่ลบล้างกรรมแต่อดีตไม่ให้ส่งผล เพราะปลาฝูงนั้นบังเอิญเป็นเจ้ากรรมนายเวร เขาอโหสิกรรมให้เป็นอันว่าเลิกรากันไป อย่างชาติสุดท้ายของพระอรหันต์องคุลีมาลก็เช่นกัน กรรมที่ฆ่าคนถึง ๙๙๙ ศพ นั้น น่าจะนำให้ท่านไปลงนรกมากกว่าไปนิพพาน แต่กรรมปัจจุบันของท่านที่ได้บวชเรียนปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด จนทำให้เจ้ากรรมนายเวรเขาอโหสิกรรมให้ เจ้ากรรมนายเวรของท่านองคุลีมาลก็คือ คนจำนวน ๙๙๙ คน ที่เคยฆ่าท่านเมื่อครั้งที่ท่านเกิดเป็นเต่าใหญ่ แล้วเอาเนื้อท่านมาแบ่งกันกิน ดังนั้นหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายตัดกรรม ก็จะมีการอโหสิกรรมหรือยกเลิกกรรมทันที

          "กรรมปัจจุบัน" มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อผลคำพยากรณ์ ดังนั้นการที่สงครามโลกจะเกิดก่อนกึ่งพุทธกาล จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ข้อสำคัญเกิดขึ้นใกล้กึ่งพุทธกาลนี่ซิครับ น่าทึ่ง แล้วรายละเอียดของคำพยากรณ์ในข้ออื่น ๆ ที่บ่งบอกเอาไว้อีก แทบจะถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนเลย

          ดูก่อนอานนท์ เมื่อศาสนาตถาคตล่วงเลยไปถึงกึ่งพุทธกาล สัตว์โลกทั้งหลายที่เกิดในยุคนั้นจะพบแต่ความลำบากทุกชาติ ทุกศาสนา ตามธรรมชาติอันหมุนเวียนของโลก ที่หมุนไปใกล้ความแตกทำลาย แผ่นดินแผ่นน้ำจะลุกเป็นไฟ มนุษย์และสัตว์จะได้รับภัยพิบัติสารพัดทั่วทิศ

          คนในสมัยนั้น จะมีวิสัยโหดดุจกำเนิดจากสัตว์ป่าอำมหิต จะรบราฆ่าฟันกันถึงเลือดนองแผ่นดินแผ่นน้ำ ส่วนเวไนยสัตว์ผู้ขวนขวายในกุศลตามวัจนะของตถาคต ก็จะระงับร้อนไม่รุนแรง บ้านเมืองใดมีความเคารพยำเกรงในพระรัตนตรัย และคุณบิดามารดา เหตุร้ายภัยพิบัติจักเบาบาง แต่ก็จะหนีกฎแห่งธรรมชาติไม่พ้น 

          สัตว์ที่น่ากลัวที่สุดในโลก คือ "มนุษย์" ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุ แปลว่า "ผู้มีใจสูง" แต่อันที่จริงถ้าจะแปลคำว่า "มนุษย์" ไปอีกความหมายหนึ่งก็จะแปลได้ว่า "ผู้มีจิตใจเป็นเลิศ เป็นเอก เป็นหนึ่ง ไม่มีใครทัดเทียมได้" มนุษย์อาจทำได้ทุกอย่างทั้งสิ่งที่เลวที่สุดชนิดที่สัตว์อื่นทำไม่ได้ และมนุษย์ก็เช่นเดียวกันสามารถทำสิ่งที่ดีที่สุดชนิดที่ อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ก็ทำไม่ได้เช่นกัน

          ในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น ท่านได้สอนให้พุทธบริษัทตระหนักถึง "ไตรลักษณ์" หรือลักษณะอันเป็นจริงตามธรรมชาติ ๓ ประการ คือ "เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป " หรือ " อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" เมื่อเกิดขึ้น ก็จะมีทุกข์ (อาจจะสุขบ้างแต่ก็น้อยกว่าทุกข์) เมื่อมีทุกข์ หรือสุข ก็จะดำรงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ตามแต่เวรกรรมที่สร้างและกำหนดไว้ แต่พอสิ้นสุดแห่งทุกข์หรือสุข ก็จะมีการแตกตับหรือสูญสิ้นไป ไม่จีรังยั่งยืน โลกของเราก็เหมือนกัน เมื่อเกิดได้ก็ย่อมแตกดับได้ไปตามกาลเวลา และการแตกดับของโลกนั้น ไม่ใช่มนุษย์ต่างดาวทำให้แตกดับ แต่เป็นมนุษย์โลกในดาวดวงเดียวกันนี่แหละทำให้เป็นไป

          หลังกึ่งพุทธกาล ท่านจะเห็นได้ว่าโลกเราได้รับภัยพิบัติธรรมชาติบ่อยครั้ง แต่ละครั้งรุนแรงคร่าชีวิตพลโลกไปไม่น้อย สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะธรรมชาติไม่สมดุล มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ขึ้นมาใช้ ซึ่งบางอย่างก็ได้ทำลายสมดุลแห่งธรรมชาติ ทั้ง ๆ ที่มนุษย์รู้ก็รู้ตัวว่าทำลายแต่ก็จะทำเสียอย่างใครจะทำไม ? พระองค์ท่านตรัสว่า แผ่นดิน แผ่นน้ำ จะลุกเป็นไฟ เพราะมีการรบราฆ่าฟันกันเลือดนองแผ่นดินแผ่นน้ำ

          ท่านก็คงจะเห็นจริงแล้ว ถึงสงครามล้างเผ่าพันธุ์ในเขมร แม้กระทั่งยิวกับอาหรับก็ยังเป็นศัตรูคู่แค้นทำสงครามกันมานานนับศตวรรษ เมื่อมนุษย์ฆ่าสัตว์จนหมดป่า ป่าถูกทำลาย พวกสัตว์ป่ามันคงจะเกิดเป็นสัตว์ไม่ได้อีกต่อไป วิญญาณสัตว์ป่าของมันจึงมาเกิดในร่างมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีจิตใจโหดร้ายเยี่ยงสัตว์ป่าหรือยิ่งกว่า เพราะมีสติปัญญาดีกว่า ดังนั้นอันตรายย่อมมากกว่าเมื่อมีการประหัตประหารกัน

          เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ไฟที่ลุกลามมาทางทิศตะวันออก หมายถึงพวกญี่ปุ่น ที่หวังจะยึดครองเอเซียอาคเนย์ (ประเทศญี่ปุ่นอยู่ทางทิศตะวันออกของไทย-อินเดีย) มีการทิ้งระเบิดของพวกสัมพันธมิตร ไม่ต้องห่วงเลยครับว่ากรุงเทพ ฯ จะเป็นอย่างไร วัดราษฏร์บูรณะ ที่อยู่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ถูกระเบิดเสียราบเรียบ เพราะอยู่ใกล้โรงไฟฟ้าซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ เป็นยุคข้าวยากหมากแพง พระเณรแทบอดตายสึกหนีหาย หนีภัยสงครามไปก็เยอะ คำว่า แมลงผีเสื้อเหล็กนับแสนตัวมาปล่อยไข่เป็นไฟเผาผลาญ ก็หมายถึงเครื่องบิน บี 52 มาทิ้งระเบิด ไฟลุกทั่วเมืองนั่นเอง

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้ตรัสเตือนพุทธบริษัทให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เตรียมพร้อมที่จะรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น แม้จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็ผ่อนปรนกรรมให้บรรเทาเบาบางได้ อย่างเมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ประเทศไทยเกือบจะสูญสิ้นเอกราชและถูกแบ่งแยกประเทศ เพราะรัฐบาลไทยประกาศร่วมสงครามกับญี่ปุ่น ทำให้ประเทศต้องย่อยยับ แม้จะอ้างว่าทานกำลังอำนาจญี่ปุ่นไม่ได้ก็ตาม ยังดีที่มีกลุ่มคนไทยรักชาติทั้งในและต่างประเทศ ร่วมกันก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นมา เมื่อสิ้นสงคราม ไทยจึงหลุดพ้นจากการถูกยึดครองและจ่ายค่าปฎิมากรรมสงคราม ถ้าจะมองอีกด้านหนึ่ง เป็นเพราะเมืองไทยเราเป็นเมืองพระพุทธศาสนา ชาวไทยในสมัยนั้นยึดมั่นในขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงาม เคร่งครัดในคำสอนของพระพุทธองค์ ทำให้รอดพ้นมาได้ ดังพุทธทำนายที่ว่า "เวไนยสัตว์ผู้ขวนขวายในกุศลตามวัจนะของตถาคตก็จะระงับร้อนไม่รุนแรง บ้านเมืองใดมีความเคารพยำเกรงในพระรัตนตรัยและคุณบิดามารดา เหตุร้ายภัยพิบัติ จักเบาบาง แต่ก็จะหนีกฎธรรมชาติไม่พ้น"

          คำว่า "เหล็กกล้าจะทะยานจากน้ำ" อันนี้คงหมายถึง เครื่องบินที่ทะยานขึ้นมาจากเรือบรรทุกเครื่องบิน นั่นเอง ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า คำพยากรณ์ของพระพุทธองค์นั้น ถ้าเข้าใจความหมายแล้ว ตีความออกมาไม่ยาก ไม่ต้องถอดรหัส ผสมอักษรให้วุ่นวาย เหมือนคำพยากรณ์ ของท่าน"นอสตราดามุส"

          "ยักษ์หินที่ถูกสาปให้หลับมาเป็นเวลานาน จะตื่นขึ้นมาอาละวาดโลก" ยักษ์หินก็คือ "ภูเขาไฟ" ที่ดับสนิทมาเป็นเวลานาน ตื่นขึ้นมาก็คือ ประทุขึ้นมาอีกที่เรียกว่า "ภูเขาไฟระเบิด" และเชื่อว่าถ้าจะถึงขั้นอาละวาดทำลายโลกแล้วล่ะก็คงไม่ใช่ลูกเดียวเป็นแน่ และเมื่อภูเขาไฟระเบิด(อาจเป็นภูเขาไฟใต้น้ำก็ได้) ดินฟ้าอากาศจะแปรปรวน ตลิ่งจะพัง ก็คือพื้นดินจะทรุดนั่นเอง แผ่นดินจะล่มเป็นทะเล โลกมนุษย์จะดิ่งสู่ความหายนะ นักปราชญ์จะถูกทำร้ายให้สิ้นสูญ (ตอนนี้เหมือนกับคำทำนายสุบินนิมิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลที่ได้นำเสนอไปแล้ว)

          เมื่อโลกผ่านกลียุคมาได้ ไม่ถึงกับแตกทำลาย พระพุทธองค์ท่านตรัสว่า ในระยะนั้น ศาสนาของตถาคตเสื่อมลงมาก เพราะพุทธบริษัทไม่ตั้งอยู่ในศีลในธรรม เชื่อคำของคนโกงกล่าวคำเท็จ ไม่เคารพหลักธรรมเนียม คนประจบสอพลอได้รับการเชื่อถือในสังคม ผู้มีศีลธรรมประพฤติดีประพฤติชอบกลับไม่มีใครเคารพยำเกรง พระธรรมจะเริ่มเปล่งแสงรัศมีฉายส่องโลกอีกวาระหนึ่ง ก็ต่อเมื่อมีธรรมิกราชโพธิญาณบังเกิดขึ้น อยู่ในความอุปถัมภ์ของ พระเถระผู้ทรงธรรมฤทธิ์ ทั้งสองพระองค์สถิตย์อยู่ ณ เบื้องทิศตะวันออกของมัชฌิมประเทศ จะเสด็จมาเสริมสร้างศาสนาของตถาคตให้รุ่งเรืองสืบไปถึง ๕,๐๐๐ พระวรรษา

          ดูก่อนอานนท์ เวลานั้นพลโลกเหลือน้อย คำทำนายของตถาคตนี้ ย่อมยังเวไนยสัตว์ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ผู้ใดรู้แล้วไม่เชื่อ นับว่าเป็นกรรมของสัตว์โลก ที่ต้องสิ้นสุดไปตามกรรมชั่วของตน

          ผู้ใดปรารถนารอดพ้นจากภัยพิบัติ ให้รักษาศีล ๕ ประการ เจริญเมตตากรุณา ประกอบสัมมาอาชีพ มีใจสันโดษ รู้จักพอ ไม่โป้ปดคดโกง ไม่หลงมัวเมาอำนาจและลาภยศ ตั้งใจประพฤติตามคำสอนของตาคตให้มั่นคง จึงพ้นอันตรายในยุคกึ่งพุทธกาล

          จากพุทธทำนายช่วงท้าย จะเห็นว่าพุทธศาสนาเสื่อมลงมาก จนกระทั่งมีผู้เป็นใหญ่ที่นับถือพุทธศาสนาบังเกิดขึ้น เป็นฆราวาส ๑ และ บรรพชิต ๑ ได้สร้างเสริมบำรุง พุทธอาณาจักร ดำรงพระศาสนาให้คงอยู่ต่อไป จนถึง ๕,๐๐๐ ปี คำว่า อยู่ ณ เบื้องทิศตะวันออกของมัชฌิมประเทศ ความหมายอันนี้ขอตีความว่า หมายถึง "ประเทศไทย" เพราะมัชฌิมประเทศ น่าจะหมายถึงอินเดีย ทิศตะวันออกของอินเดียก็คือ ไทย ไม่น่าจะเป็นประเทศอื่น เพราะประเทศไทยมีรากฐานทางพระพุทธศาสนาที่มั่นคง ไม่ถูกทำลายสูญหายไปง่าย ๆ

        หากผู้ใดตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ประพฤติตนอยู่ในหลักคำสอนของพระพุทธองค์แล้ว โอกาสที่จะรอดพ้นอันตรายจากภัยพิบัติในกึ่งพุทธกาลย่อมมีมาก


                                                          กลับ


            

9.2.54

พุทธทำนาย


       

          ในสมัยพุทธกาล ณ ราตรีหนึ่ง พระยาปัตเวน หรือ พระเจ้าปเสนทิโกศล จอมกษัตริย์ แห่งกรุงสาวัตถีได้ทรงพระสุบินนิมิต(ฝัน) ถึงเหตุประหลาด ๑๖ ประการ จนสะดุ้งตื่นจากพระบรรทม ทรงหวาดหวั่นเป็นกำลัง เมื่อไต่ถามพราหมณ์ปุโรหิตให้พยากรณ์ ก็มีคำพยากรณ์ออกมาว่าจะเกิดอันตรายขึ้น ๓ ประการ คือ ๑. อันตรายแก่ราชสมบัติ ๒. อันตรายแก่พระมเหสี ๓. อันตรายแก่พระชนม์ชีพของพระองค์ ผลคำพยากรณ์พระสุบินนิมิตนี้ เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ พราหมณ์ได้กราบทูลให้จับสัตว์มาอย่างละ ๔ ตัวเพื่อทำพิธีบูชายัญ

          เรื่องนี้พระนางมัลลิกา (พระมเหสี) ได้ไปทูลถามพระพุทธองค์ พร้อมกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ถึงพระสุบินนิมิตอันแปลกประหลาด จึงได้รู้ความจริงจากพระบรมศาสดาว่า "มหาสุบินนิมิต ๑๖ ประการนั้น จะไม่บังเกิดในขณะนั้น และมิได้บังเกิดในรัชกาลของพระองค์ " จึงทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลเลิกพิธีจับสัตว์มาบูชายัญเสีย ด้วยจะเป็นกรรมเวรสืบกันไป และไม่บังเกิดผลดีอย่างไร

          การที่พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงพระสุบินนิมิตเหตุประหลาดถึง ๑๖ ประการนั้นเป็นเพราะเทวดาคงจะต้องการบอกเหตุ โดยอาศัยพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นสื่อ และยังได้ดลใจให้ไปทูลถามพระพุทธองค์จึงได้เกิดคำพยากรณ์ขึ้นเป็นวิสามัญเหตุ และอุบัติการณ์ที่อยู่ในข่ายพระบารมีของสมเด็จพระบรมศาสดาจะได้ทรงตรัสคำพยากรณ์อันเป็นอมตะนี้ ซึ่งรายละเอียดของพระสุบิน และคำพยากรณ์ เป็นอย่างไรก็ขอเชิญท่านผู้อ่านได้สดับ และวินิจฉัยเป็นข้อ ๆ ดังนี้

ข้อ ๑. ในสุบินว่า"ได้เห็นโคอุสุภราช สีดำ ๔ ตัว มาแต่ทิศทั้ง ๔ ทำอาการเหมือนจะชนกันที่หน้าพระลานหลวง ครั้นมหาชนมามุงดูโคอุสุภราชทั้ง ๔ ทำเหมือนจะชนกันจริง ๆ ส่งเสียงคำรามร้องกึกก้อง แล้วต่างตัวต่างก็ถอยหลังไปไม่ชนกันอย่างที่คิด"

ทรงพุทธพยากรณ์ว่า "จะมีเมฆดำตั้งขึ้นในทิศทั้ง ๔ เสียงฟ้าลั่นอยู่ครืน ๆ ทำทีเหมือนฝนจะตกแต่ก็มิตก ทำให้เกิดการเสียหายแก่พืชผลเกิดข้าวยากหมากแพงในประเทศ"

ถ้านำเอาพุทธพยากรณ์มาเปรียบเทียบกับดวงดาวในวิชาโหราศาสตร์ "โคอุสุภราชสีดำทั้ง ๔ตัว สีดำ ก็คือ ดาวเสาร์ ซึ่งหมายถึงความทุกข์ยากแห้งแล้ง ส่วนโคอุสุภราช หมายถึง เมฆฝน เพราะเป็นสัตว์สวรรค์บนท้องฟ้า คล้ายเมฆดำอันหมายถึงโคดำนั่นเอง"

ข้อ ๒. สุบินว่า "เห็นต้นไม้และกอเล็ก ๆ ผุดขึ้นจากดินแล้วเจริญขึ้นโดยลำดับ ผลิตดอกออกผลในขณะที่เล็กๆอยู่นั้น"

ทรงพุทธพยากรณ์ว่า "โลกสมัยต่อไปจะเสื่อม อายุผู้คนจะสั้นแต่กิเลสกลับร้อนแรงขึ้น จะสมสู่กันแต่เล็ก ๆ จนเกิดลูกหลานเมื่ออายุยังน้อย เหมือนต้นไม้เล็กมีดอกผลฉะนั้น"

          พุทธทำนายข้อนี้ ปัจจุบันได้บังเกิดให้เห็นกันบ้างแล้ว ถึงแม้ความเจริญทางด้านการแพทย์จะสูงขึ้น แต่คนก็ยังอายุสั้นและตายกันง่ายอยู่ดี เพราะสภาพมลภาวะที่เป็นพิษและอาวุธที่ทันสมัย ฆ่ากันให้ตายได้ในพริบตาเดียว นี่ขนาดยังไม่รวมถึงโรคร้ายที่รักษาไม่หาย เช่น เอดส์ หรือ มะเร็ง ส่วนการที่คนมีกิเลสตัณหามากขึ้น มีการสมสู่กันแต่เล็ก ๆ 

ข้อ ๓. สุบินว่า "แม่โคดูดนมลูกโค ซึ่งเกิดในวันนั้น"

ทรงพุทธพยากรณ์ว่า " ต่อไปการเคารพนบนอบต่อผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ จะเสื่อมถอยลง และในทางตรงกันข้าม ผู้ใหญ่ต่างหากจะต้องประจบเด็ก เหมือนแม่โคดูดนมลูกโคฉะนั้น"

          ในปัจจุบันผู้ใหญ่ในความคิดของเด็ก ๆ เหมือนหัวหลักหัวตอ ที่จะมาเคารพนบไหว้นั้นไม่ค่อยจะมีให้เห็น เมื่อสัก ๕ หรือ ๖ ปี มานี้ ได้มีลัทธิอุบาทว์ เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย มีคนหลงเข้าไปเป็นสาวกอยู่มาก มาจากพวกเกาหลีหรือญี่ปุ่นนี่แหละ มีการสอนให้ทำสมาธิ สอนไปสอนมาดันสอนออกมาได้ว่า "พ่อแม่มีหน้าที่ให้กำเนิดและเลี้ยงดู ไม่ได้ถือเป็นบุญคุณอะไร" ตอนหลังกระทรวงศึกษาธิการทราบเข้า ก็เลยสั่งปิดสำนักต่าง ๆ ไปเสียหลายแห่ง และห้ามนำมาเผยแพร่เด็ดขาด 

          เรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องมาประจบเอาอกเอาใจเด็กก็เหมือนกัน มีให้เห็นกันดาษดื่น ประเภทรักลูกโอ๋ลูกจนลูกเสียคน ดูอย่างนายพลคนหนึ่งที่ลูกชายไปก่อเวรสร้างกรรมกับภรรยา ที่มีดีกรีเป็นถึงรองนางสาวไทยและยังไปก่อกรรมกับชาวบ้านทำให้เดือดร้อนกันทั่ว แม้กระทั่งตำรวจบนโรงพักยังโดนเลย แต่แทนที่ผู้เป็นพ่อจะเห็นกับคุณธรรมหรือส่วนรวม กลับเข้าข้างลูกตนชนิดดำเป็นขาวทีเดียว 

ข้อ ๔. สุบินว่า "เห็นคนเอาโคกำลังเอกหรือมีพละกำลังแข็งแรง ปล่อยปละเอาไว้ไม่นำเข้าเทียมแอก แต่กลับนำเอาโครุ่นที่ปราศจากกำลังมาใช้เทียมแอกแทน ซึ่งเจ้าโครุ่นเมื่อไม่สามารนำเกวียนแล่นได้ ก็สลัดแอกนั้นเสีย" (โครุ่น เปรียบเหมือนเด็กวัยรุ่น ๑๕-๑๖, โคกำลังเอก เหมือนผู้ใหญ่วัยฉกรรจ์)

ทรงพุทธพยากรณ์ว่า "ต่อไปผู้มีปัญญาจะไม่ได้รับการยกย่องในหน้าที่ราชการ แต่ยศศักดิ์จะถูกนำไปให้แก่หนุ่มโง่ ๆ ซึ่งไม่สามารจะปฏิบัติราชการให้ดีได้ เหมือนคนปล่อยโคมีกำลังออกแล้วนำโครุ่นมาเทียมแทนนั้น"

          ข้อนี้จริงแท้แน่นอน เหมือนกับคำพังเพยที่ว่า "ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน" ฉันใดก็ฉันนั้นขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะเสียกรุงครั้งที่ ๑ ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหินทราธิราช ที่ทรงหลงกลพระเจ้าบุเรงนองที่แกล้งปล่อยพระยาจักรี ที่ถูกจับได้ในสงครามคราวก่อนให้มาเป็นไส้ศึก เมื่ออำนาจการบัญชาการสูงสุดในการป้องกันพระนครตกอยู่กับคนชั่วอย่างพระยาจักรี มันก็แกล้งสับเปลี่ยนตำแหน่งให้คนอ่อนแอไม่เอาไหนอยู่ด้านหน้า คนดีมีฝีมือก็ย้ายไปอยู่เสียด้านอื่นที่ไม่มีข้าศึกมาประชิด หากใครกล้าหือก็จะถูกกำจัดเสียด้วยเล่ห์กลต่าง ๆ และอำนาจที่มีอยู่ขนาดพระศรีเสาวภาคย์ พระอนุชาแท้ ๆ ของพระมหินทร์ ที่มีความสามารถมากในการป้องกันพระนครยังถูกใส่ความว่าจะเป็นกบฎจนต้องพระราชอาญาถึงประหารชึวิตในที่สุด

ข้อ ๕. สุบินว่า "เห็นม้าตัวหนึ่งมีปากสองข้าง คนสองคนยื่นข้าวให้ม้าคนละปาก ม้าเคี้ยวข้าวกล้าด้วยปาก ๒ ข้างนั้น”

ทรงพุทธพยากรณ์ว่า ต่อไปผู้ใหญ่ในประเทศจักโลเล ไม่ยุติธรรม รับสินบนจากคู่ความทั้งสองฝ่าย แล้วตัดสินตามใจชอบของตน เอาแต่สินบนเป็นประมาณ เหมือนม้าเคี้ยวข้าวกล้าด้วยปากทั้งสองข้างฉะนั้น

          ท่านผู้อ่านคิดว่าคนประเภทเห็นสินบนเป็นสรณะ ดั่งพุทธทำนายมีไหมครับในปัจจุบัน หรือหลังจากพุทธกาลล่วงมาแล้ว ถ้านึกไม่ออกลองหาละครประวัติศาสตร์ของไทย เช่น เรื่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราช , สมเด็จพระศรีสุริโยทัย หรือละครจีนเรื่อง เปาบุ้นจิ้นมาดูซิครับ คงจะเห็นภาพพจน์ ตามพุทธทำนายได้ชัดเจนยิ่งขึ้นกระมัง

ข้อ ๖. สุบินว่า "คนเอาถาดทองคำราคาแสนตำลึง เอาไปให้สุนัขจิ้งจอก แล้วสุนัขนั้นก็ถ่ายปัสสาวะในถาดทองคำนั้น"

ทรงพุทธพยากรณ์ว่า "ต่อไปคนดีมีตระกูลจะยากไร้สิ้นอำนาจวาสนา คนตระกูลต่ำจะได้เป็นใหญ่ ผู้มีตระกูลจะยกลูกสาวให้แก่ผู้ไม่มีตระกูล เหมือนสุนัขจิ้งจอกถ่ายปัสสาวะลงในถาดทองคำนั้น"

          เคยได้ยินคำว่า "ผู้ดีตกยาก" ใช่ไหมครับ แล้ว "ขี้ข้าครองเมือง" ล่ะ ก็คงได้ยินเหมือนกัน เมื่อก่อนนี้มีคำพังเพยว่า "สิบพ่อค้าไม่เท่ากับหนึ่งพระยาเลี้ยง" แต่สมัยปัจจุบันนี้ คำพังเพยข้อนี้ใช้ไม่ได้แล้วเพราะพวกพ่อค้านักธุรกิจทั้งหลายต่างก็มียศศักดิ์เป็นถึงรัฐมนตรีหรือเสนาบดีหลายต่อหลายท่าน พวกข้าราขการประจำน่ะหรือ ขืนไม่เป็นสนลู่ลมล่ะก็มีหวัง เด้ง ดึ๋ง ดึ๋ง แน่ ดีไม่ดีหากอยากก้าวหน้าหรือรักษาเก้าอี้เอาไว้ ถ้ามีลูกสาวสวย ๆ ล่ะก็ อาจจะนำไปเป็นเครื่องบรรณาการแด่ท่านผู้เป็นใหญ่ที่มาจากตระกูลต่ำต้อย สมดังพุทธทำนายก็ได้นะครับ

ข้อ ๗. สุบินว่า " เห็นบุรุษหนึ่งนั่งฟั่นเชือกอยู่บนตั่ง หย่อนปลายเชือกที่ฟั่นแล้วห้อยไปใต้ตั่งสุนัขจิ้งจอกตัวเมียนอนอยู่ใต้ตั่งหิวจัด ได้กัดกินเชือกที่บุรุษฟั่นนั้นไปเรื่อย ๆ ยิ่งฟั่นก็ยิ่งหมดลงไปทุกทีแต่บุรุษนั้นหารู้ไม่"

ทรงพุทธพยากรณ์ว่า " ต่อไปหญิงทั้งหลายจะเหลาะแหละกับผู้ชายและชอบเสพสุรา ชอบซื้อแต่เครื่องประดับตกแต่งตน ชอบทำเสน่ห์ยาแฝด มิได้เหลียวแลการบ้าน ชอบคบชู้ จะผลาญทรัพย์ที่สามีหามาได้ด้วยความลำบากให้หมดสิ้นไป เหมือนนางสุนัขจิ้งจอกหิวจัด เคี้ยวเชือกที่บุรุษฟั่นนั้นให้หมดไป"

ข้อ ๘. สุบินว่า " ได้เห็นกระออมใหญ่ใบหนึ่งมีน้ำเต็มและมีโอ่งเปล่าล้อมกระออมใหญ่อยู่หลายใบ มีคนมาตักน้ำจาก ๘ ทิศ เทลงในกระออมที่มีน้ำเต็มอยู่แล้ว แทนที่จะเทลงในโอ่งเปล่าที่ไม่มีน้ำ ดังนั้นน้ำในกระออมจึงไหลล้นออกมา "

ทรงพุทธพยากรณ์ว่า "คนที่รวยอยู่แล้วยิ่งมีคนยากจนมาหารายได้ให้ หรือส่งเสริมให้รวยมากขึ้น การที่คนจนมาทำงานส่งเสริมให้คนรวย แทนที่จะสร้างฐานะให้ตนเองร่ำรวย ก็เหมือนคนที่มาตักน้ำใส่กระออมอันมีน้ำเต็มอยู่นั่นเอง”

ข้อ ๙. สุบินว่า "สระใหญ่แห่งหนึ่งมีบัวนานาชนิดขึ้นอยู่เต็ม มีท่าขึ้นลงอยู่รอบสระ สัตว์ต่าง ๆ พากันลงมาดื่มน้ำในสระ แต่แทนที่ริมสระน้ำจะขุ่นเพราะสัตว์ลงมาดื่มกิน น้ำกลับใส ส่วนที่กลางสระที่สัตว์ต่าง ๆ พากันไปไม่ถึงนั้นแทนที่น้ำจะใสกลับขุ่น"

ทรงพุทธพยากรณ์ว่า "ต่อไปผู้เป็นใหญ่ในประเทศจะไม่ตั้งอยู่ในธรรม มักรีดนาทาเร้นราษฏรในเมืองหลวง ทำให้ราษฏรทนไม่ได้ก็เลยอพยพไปอยู่ยังชายแดนหมด เมืองหลวงก็ว่างเปล่าไม่มีคนส่วนชายแดนหนาแน่นด้วยผู้คน เหมือนกลางสระน้ำขุ่นริมสระน้ำใสนั้น"

          ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายก่อนเสียกรุง มีผู้คนไม่น้อยที่อพยพหลบหนีภัยสงครามบ้าง ภัยจากพวกขุนนางฉ้อฉลบ้าง ออกไปอยู่นอกเมืองหรือจะเรียกว่า "เข้าไปอยู่ในป่าก็ได้" แม้กระทั่งพระยาวชิรปราการ หรือพระยาตาก(สิน) ก็ยังรวบรวมสมัครพรรคพวก ฝ่าวงล้อมพม่าออกไปตั้งมั่นยังหัวเมืองชายฝั่งตะวันออกเลยเพราะทนความเหลวแหลกของผู้เป็นใหญ่ในสมัยนั้นไม่ไหว

ข้อ ๑๐. สุบินว่า "เห็นข้าวหุงในหม้อใบหนึ่ง มี ๓ อย่าง คือ ข้างหนึ่งดิบ ข้างหนึ่งเปียก อีกข้างหนึ่งเป็นท้องเลน"

ทรงพุทธพยากรณ์ว่า "ต่อไปเมื่อคนไม่อยู่ในศีลธรรมแล้ว ฝนก็จะไม่ตกโดยทั่วถึง ส่วนที่ไม่ตกเลย ข้าวกล้าก็เหี่ยวแห้ง ส่วนตกพอดีข้าวกล้าก็งอกงาม เหมือนข้าวสุกในหม้อเดียวกันมีเป็น ๓ อย่าง"

ข้อ ๑๑ . สุบินว่า " เห็นคนเอาแก่นจันทน์ราคาแสนตำลึง ไปแลกกับนมโคที่เสีย"

ทรงพุทธพยากรณ์ว่า "ต่อไปภิกษุอลัชชีไม่มียางอาย จะนำธรรมที่ตถาคตกล่าวติเตียนความโลภ ไปแสดงให้คนอื่นละความโลภ แล้วพากันบริจาคจตุปัจจัยให้แก่ตน ภิกษุอลัชชีเหล่านั้นจะเที่ยวไปนั่งแสดงธรรมในที่ต่าง ๆ เพื่อหวังลาภ เหมือนคนเอาแก่นจันทน์อันมีค่า(ธรรมของพระพุทธองค์)ไปแลกกับนมโคเสีย(ทรัพย์สินเงินทองที่คนพากันมาบริจาค)"

          การติดกัณฑ์เทศน์ หรือการถวายจตุปัจจัยไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์ที่นั่งแสดงธรรมบนธรรมมาสน์นั้นเริ่มมีมาแต่สมัยใด เพราะผมเชื่อแน่ว่าในสมัยพุทธกาลไม่มีการกระทำเช่นนี้ในบรรดาเหล่าอุบาสกอุบาสิกาแน่นอน มิเช่นนั้นพระพุทธองค์ท่านคงไม่ทรงมีพุทธทำนายเช่นนี้

          ในเกร็ดประวัติตอนหนึ่งของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพ ฯ เนื่องจากท่านเป็นพระนักเทศน์ หรือ "ธรรมกถึกเอก" ในสมัยนั้น กิจนิมนต์การเทศน์ของท่านจึงมีมาก ไปเทศน์ครั้งหนึ่ง ๆ ได้ข้าวของเครื่องใช้ ผลหมากรากไม้เป็นลำเรือทีเดียว แต่ท่านก็หาได้มีความโลภในอามิสที่ได้รับไม่ อย่างเช่นคราวหนึ่งในขณะที่กลับมาถึงวัดหลังกิจนิมนต์เทศน์ เจ้าลูกศิษย์วัดสองคนที่ช่วยกันพายเรือพาท่านไปนั้น ได้เกิดเถียงกันในส่วนแบ่งข้าวของที่ติดกัณฑ์เทศน์ว่า" กองนี้ของข้าส่วนกองนั้นเป็นของเอ็ง " เจ้าอีกคนหนึ่งเห็นว่ากองที่ตนได้มันน้อยไม่คุ้มค่าเหนื่อย ก็เกี่ยงงอนว่า "เฮ้ยไม่ได้ ของข้าต้องกองนี้ เอ็งเอากองนั้นไป " เถียงกันอยู่นั่นแหละครับ จนสมเด็จโตท่านคงรำคาญ เลยตัดบทพูดสัพยอกไปว่า "แล้วของฉันล่ะกองไหน" เท่านั้นแหละครับถึงยุติการถกเถียงกันลงไปได้ เพราะในการไปเทศน์แต่ละครั้งนั้น ท่านไม่ได้เคยนึกอยากจะไปเทศน์เพราะหวังในอามิสแม้แต่ครั้งเดียว ข้าวของที่ได้มา ลูกศิษย์มักจะแบ่งกันไป หรือไม่เช่นนั้นท่านก็จะนำไปให้พระ เณร รูปอื่น หรือคนยากไร้ทุกครั้งไป นี่แหละครับ "เนื้อนาบุญอันเลิศของโลก" ที่แท้จริงและหาได้ยากในสมัยปัจจุบัน

ข้อ ๑๒. สุบินว่า " ได้เห็นน้ำเต้าที่เขาคว้านไส้ออก เหลือแต่เปลือกเปล่า ซึ่งควรจะลอยน้ำแต่กลับจมดิ่งลงในน้ำ "

ทรงพุทธพยากรณ์ว่า "ต่อไปถ้อยคำของคนชั่ว ไม่มีศีล ไม่มีธรรม จะมั่นคง ส่วนถ้อยคำของคนดีมีศีลธรรม จะอับเฉา เหมือนน้ำเต้าเปล่าแต่จมน้ำ "

ข้อ ๑๓. สุบินว่า "ได้เห็นหินก้อนใหญ่ ประมาณเท่าเรือนลอยอยู่บนผืนน้ำ เหมือนสำเภาหรือเรือใหญ่ ๆ ฉะนั้น "

ทรงพุทธพยากรณ์ว่า " ต่อไปคนดีมีศีลธรรมจะไม่มีใครเคารพนับถือ จะเคารพนับถือแต่คนชั่วไร้ศีลไร้ธรรม เหมือนหินลอยน้ำฉะนั้น"

ข้อ ๑๔. สุบินว่า "เห็นนางเขียดเล็กตัวหนึ่ง วิ่งไล่งูเห่าตัวใหญ่ไปโดยกำลังเร็ว แล้วกัดงูเห่ากลืนกิน"

ทรงพุทธพยากรณ์ว่า "ต่อไปสามีจะอยู่ในอำนาจของภรรยา จะถูกภรรยาด่าว่าเช่นคนรับใช้เหมือนนางเขียดกินงูเห่าฉะนั้น"

ข้อ ๑๕. สุบินว่า "ได้เห็นหงส์ทองแวดล้อมด้วยกาในที่ต่างๆ "

ทรงพุทธพยากรณ์ว่า " ต่อไปผู้มีตระกูลจะต้องเที่ยวประจบสวามิภักดิ์ผู้ไม่มีตระกูล เหมือนหงส์ทองแวดล้อมด้วยกาฉะนั้น "

ข้อ ๑๖. สุบินว่า "ได้เห็นแพะไล่ติดตามเสือเหลือง แล้วกินเสือเหลืองเสีย ภายหลังเสืออื่น ๆ เห็นแพะแต่ไกลก็เกิดความหวาดกลัว พากันวิ่งหนีหลบซ่อนไปในที่ต่าง ๆ"

ทรงพุทธพยากรณ์ว่า "ต่อไปศิษย์จะสู้ ครูผู้น้อยจะข่มเหงผู้ใหญ่ คนดีจะถูกคนชั่วเบียดเบียนและจะต้องหลบหลีกซ่อนเร้นไปเพราะกลัวเหมือนเสือหนีแพะฉะนั้น"


          จากพุทธทำนายทั้ง ๑๖ ข้อ จะสังเกตเห็นได้ว่า "เมื่อความเจริญทางด้านวัตุมีมากขึ้นเท่าไร ในส่วนที่เป็นความเจริญในด้านจิตใจ ก็จะต่ำทรามลงมากเท่านั้น และจะต่ำถึงที่สุดถึงขั้นกลียุคเลยทีเดียว "

          ในสมัยพุทธกาลหรือโบราณกาลนั้น สังคมมนุษย์อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข เพราะสภาพสังคมที่เอื้ออำนวยในทางที่ดี อยู่ในครรลองของศีลธรรม ไม่ว่าจะเป็นสถาบันครอบครัวที่มีสามี(พ่อ)เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือ "ช้างเท้าหน้า" มีภรรยา(แม่) เป็นผู้คอยให้การสนับสนุน ช่วยดูแลบ้านเรือน อบรมกุลบุตร กุลธิดาและบ่าวไพร่ในบ้านให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยหลักแห่งพระพุทธศาสนาและจารีตประเพณีที่งดงาม เมื่อหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมสงบสุขเรียบร้อยแล้ว สังคมโดยส่วนรวมย่อมจะสงบสุขเรียบร้อยไปด้วยเช่นเดียวกัน

          แต่ยุคปัจจุบันพุทธทำนายของพระพุทธองค์ได้ปรากฎเด่นชัดให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อมของจิตใจที่ไม่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย ไม่สงบสุขเหมือนดังแต่ก่อน ซึ่งเราท่านจะไปตีโพยตีพายโทษใครคนหนึ่งคนใดหาได้ไม่ เพราะมันเป็น "วัฎจักรแห่งธรรม" (ธรรมชาติ) มันย่อมมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แม้แต่พระพุทธศาสนาของพระบรมศาสดาเอง เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงประกาศพระศาสนาแล้ว พระองค์ยังทรงมีพุทธพยากรณ์เกี่ยวกับอายุของพระศาสนาไว้เพียง ๕,๐๐๐ ปีเท่านั้น ซึ่งนับว่ามีอายุน้อยที่สุดในภัทรกัปป์นี้ก็ว่าได้


                                                          กลับ